วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

8 แนวทางในการเลือกซื้อหูฟัง


        สำหรับการเลือกซื้อหูฟังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีรายละเอียดที่ควรรู้เอาไว้เพื่อเวลาไปเลือกซื้อหูฟังประจำตัวซักตัวจะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ควรตรวจดูและทดสอบในส่วนไหน สำหรับ 8 แนวทางในการเลือกซื้อหูฟัง เป็นหัวข้อกว้างๆเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถนำเอาไปใช้งานได้ เพราะว่าในท้องตลาดมีหูฟังหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้งาน ดังนั้นการเลือกซื้อหูฟังอย่างถูกวิธีน่าจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเลือกหูฟังที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองได้ใกล้เคียงมากที่สุด หรือชอบมากที่สุด

แนวทางที่ 1

   ติดตามอ่านหาความรู้จากนิตยสารเท่าที่จะมีเวลา หาข้อมูลจากทาง internet ให้มากที่สุด หรือไปเดินดูยี่ห้อและรุ่นจากทางร้านต่างๆที่เห็นจากโฆษณา การติดตามข่าวสารเบื้องต้นเหล่านี้จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะช่วยให้เราทราบว่า ในขณะนี้ยี่ห้ออะไร รุ่นอะไร เป็นที่นิยมมากที่สุดและได้รับรางวัลหรือได้รับโหวตอะไรมาบ้าง เพื่อจะได้ดูเป็นตัวเลือกแรกๆ

แนวทางที่2

   ถามตัวเองว่าต้องการใช้หูฟังเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ใช้ทำงานสำหรับงานPAเป็นหลัก หากเป็นเช่นนี้ก็ควรเลือกหูฟังแบบปิดจะดีที่สุด เพราะว่าหูฟังแบบปิดจะลดเสียงจากภายนอกที่เข้ามารบ
กวนเสียงภายในหูฟังได้เป็นอย่างดี ตรงนี้มีความสำคัญต่อความชัดเจนของเสียงภายในหูฟังเป็นอย่างมาก เพราะการทำงานกับระบบเสียงกลางแจ้งที่มีความดังมากๆ หูฟังที่ลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยให้เราสามารถแยกแยะเสียงใที่ได้ยินในหูฟังได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
สำหรับแนวทางการเลือกซื้อหูฟังแบบปิดควรลองใส่หูฟังโดยยังไม่ต้องเปิดเพลงแต่อย่างไร แต่ให้เปิดเพลงภายในร้านให้ดังพอสมควร หูฟังแบบปิดที่ดีจเมื่อสวมใส่แล้วจะต้องสามารถลดเสียงรบกวนลงได้มากจนรู้สึกว่าได้ยินเสียงเพลงจากวิทยุแผ่วๆ หากเป็นในลักษณะดังกล่าวนี้ก็ถือว่าสามารถเลือกซื้อมาใช้งานได้

แนวทางที่3

    ถามตัวเองว่าเน้นการฟังเพลงหรือต้องรายละเอียดของเสียง โดยเฉพาะเสียงเบสที่อิ่มและลงได้ลึกโดยไม่แคร์เสียงรบกวนรอบข้าง เพราะใช้งานในบ้าน ในสตูดิโอ หรือในห้องที่ไม่มีเสียงอึกทึกมากไปจนัก หูฟังแบบเปิดจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะว่าหูฟังแบบเปิดจะจะให้เสียงลักษณะการตอบสนองต่อย่านความถี่โดยเฉพาะเสียงเบสที่อิ่มชัดและลงได้ลึก และเสียงกลางและแหลมชัดเจนอยู่แล้ว     ดังนั้นจึงเป็นหูฟังที่เหมาะสำหรับการฟังเพลงเป็นอย่างมาก รวมถึงการใช้งานประเภทอื่นๆอีกด้วย แต่ไม่เหมาะสำหรับงานระบบเสียงกลางแจ้งเพราะไม่สามารถทอนเสียงรบกวนจากภายนอกให้เข้ามาในหูฟังได้เลย จึงทำให้เมื่อใช้งานกับระบบเสียงกลางแจ้งจะฟังเสียงไม่ค่อยชัดเจนซักเท่าไหร่

แนวทางที่4

   ความสบายความชับในขณะสวมใส่เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการตอบสนองต่าย่านความถี่ของตัวหูฟังเอง ในขณะทดสอบพยายามใช้เวลาให้ได้มากที่สุดในขณะสวมใส่ อย่างน้อยควรได้ซัก 5 นาทีก็ยังดี ยิ่งมีเวลาสวมใส่นานเท่าไหร่ เราก็จะรู้มากเท่านั้นว่าหูฟังตัวนั้นออกแบบมาเหมาะสมกับหัวของเราหรือไม่ ต้องอย่าลืมว่าหูฟังที่สวมใส่ไม่สบายจะทำให้ผู้ใช้งานปวดหัวโดยไม่รู้ตัว เพราะอาการปวดหัวเกิดจากการบีบรัดของ ear-pad นั่นเอง ยิ่งบีบรัดมากในขณะสวมใส่ครั้งอาจรู้สึกกระชับแน่นดี แต่เมื่อเวลานาน ความกระชับแน่นนั้นจะเปลี่ยนเป็นอาการบีบรัดแทน ตรงนี้อย่าใจร้อนรีบเลือกซื้อใจเย็นและใช้เวลา

แนวทางที่5

    ทดสอบฟังขั้นตอนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งต้องใช้เวลาฟังนานขึ้น เตรียมตัวนำแผ่นที่คุ้นเคยไปด้วยเพื่อเปิดฟังทดสอบว่า เพลงที่เราคุ้นเคยให้ลักษณะเสียงอย่างเช่น ความสดใสที่เป็นอย่างไร พอดี หรือมากไปหรือน้อยไป หรือเสียงกลางที่อยู่ในลักษณะไม่ล้นออกมามากไปหรือรู้สึกว่าเสียงกลางจมมากไปหรือไม่ การทดสอบเสียงกลางก็อย่างเช่น เสียงร้องที่ฟังอยู่ในมิติที่เป็นอย่างไร นักร้องยังร้องอยู่หน้าวงหรือไม่ หรือเมื่อฟังแล้วรู้สึกว่านักร้องจะร้องดังกว่าวงเกินไป ผิดไปจากการฟังลำโพงปกติ
   การทดสอบฟังอย่าเพิ่งสรุปเชื่อใคร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆหรือผู้ขายเอง พยายามฟังและเลือกหูฟังที่ได้เสียงตามแบบที่เราชอบมากที่สุดเสียก่อน แล้วจึงมาวิเคราะห์คำแนะนำต่างๆที่รู้มาว่า เป็นจริงตามที่กล่าวมาหรือไม่ ให้เอาคำแนะนำเหล่านั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งของการทดสอบด้วยและลองทดสอบตามคำแนะนำตามไปด้วย
    ฟังในความดังที่เหมาะสมเป็นหลักเพื่อดูว่าการตอบสนองต่อย่านความถี่ครบหรือไม่ ในการฟังที่ความดังปกติ (ไม่ดังจนหนวกหูหรือเบาจนเสียงรอบข้างเข้ามาได้ยินในหูฟัง) หากหูมีที่มีคุณภาพเราจะได้ยินเสียงความถี่ที่ครบและชัดเจน ช่วยให้มิติเสียงอยู่ครบและแม่นยำในตำแหน่งของเครื่องดนตรี การกระจายตัวของมิติเสียงเป็นไปอย่างถูกต้อง เสียงเอฟเฟคต่างๆได้ยินถึงหางเสียงที่จางหายไปหรือแม้แต่เสียงลมหายใจของนักร้องในขณะสูดลมเข้าปอดเพื่อร้องในท่อนต่อไป
    ในขณะทดสอบฟังควรดูที่เครื่องขยายเสียงด้วยว่าต้องเปิดวอลลุ่มจนถึงขนาดไหน หากหูฟังที่กินวัตต์น้อยหรือมีค่าความต้านทานน้อยถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอันดับต้นๆเอาไว้ก่อน เพราะว่าจะช่วยให้เราสามารถใช้งานหูฟังได้หลากหลายกับเครื่องมือระบบเสียงมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องเล่นขนาดเล็กๆอย่าง เครื่องเล่น MP3แบบพกพา หรือ เครื่องเล่นซีดีพกพา หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือก็ตาม

แนวทางที่6

    เปรียบเทียบมากกว่าสองรุ่นขึ้นไป ในขณะเลือกซื้อหรือเตรียมตัวจะมองหาหูฟังซักตัว พยายามหาข้อมูลทั้งรูปร่างที่ชอบ และสเปคที่สนใจ พยายามมองหาสเปคที่ใกล้เคียงกันเอาไว้มากกว่าสองรุ่นขึ้นไปทั้งเป็นยี่ห้อเดียวกันก็ดีหรือต่างยี่ห้อก็ดี การมีตัวเลือกที่มากกว่าหนึ่งตัวจะช่วยให้เราไม่มัดมือตัวเองมากไป บางครั้งตั้งใจจะไปเอายี่ห้อนี้รุ่นนี้แต่เมื่อลองฟังเสียงอีกยี่ห้อหนึ่งเกิดอาการลังเลใจ แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวเรื่องข้อมูลดีพอเลยต้องกลับมาตัดสินใจใหม่อีกครั้ง ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ

แนวทางที่ 7

    อย่าเชื่อสเปคมากจนเกินไป เรื่องของสเปคนั้นอ่านเพื่อให้รู้เอาไว้ อ่านเพื่อให้เข้าใจว่าหูฟังตัวนี้มีคุณสมบัติอย่างไร แต่จงเชื่อหูของตัวเอง จงเชื่อในความชอบในแนวทางการฟังของเราเป็นหลัก เพราะลักษณะโทนเสียงและความชอบของแต่ละคนต่างกันออกไป แต่จงยึดพื้นฐานความแม่นยำของมิติเสียง ความสมดุลของความถี่ การไม่กินวัตต์ของหูฟัง ความสบายในขณะสวมใส่ สิ่งเหล่านี้คือมาตราฐานที่ควรยึดถือเอาไว้ ไม่ใช่เป็นคนชอบฟังเสียงแหลมจัดอยู่แล้ว พอพบหูฟังที่ให้เสียงแหลมน้อยกว่าความชอบของตัวเอง ก็สรุปแล้วว่า หูฟังรุ่นนี้เสียงไม่ดี อับทึบเกินไป เพราะหลายครั้งที่หลายๆคนเสพการฟังแบบใส่ผงชูรสทางเสียงมากไปจนเกินพอดี นั่นก็คือชอบเสียงแหลมจัด หรือทุ้มจัด เป็นต้น

แนวทางที่ 8

   การทดสอบฟังอย่าปรุงแต่งเสียงด้วยอีคิว พยายามฟังโดยตรงจากเครื่องเล่นซีดีเสียก่อนอันดับแรก เพื่อทดสอบฟังลักษณะเสียงตามที่กล่าวมาในแนวทางข้างต้นจนเป็นที่พอใจแล้ว ให้ลองเสียบหูฟังๆกับเครื่องขยายเสียงที่จะมีช่องเสียบหูฟังอยู่แล้ว (ควรฟังเพลงชุดเดียวกันและแทรคเดียวกัน เพื่อจะได้จับทางได้ออกนั่นเอง)
   การตรวจสอบฟังในลักษณะนี้หากพบว่าลักษณะเสียงที่ฟังจากเครื่องเล่นซีดีโดยตรง เกิดความแตกต่างเมื่อฟังเสียงผ่านเครื่องขยายเสียง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเป็น ลักษณะโทนเสียงที่
    เปลี่ยนไป เช่น ทุ้มจัดขึ้นเล็กน้อย หรือแหลมใสขึ้น หรือมิติเสียงที่แม่นยำขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะแสดงว่าหูฟังตัวนี้รุ่นนี้ให้รายละเอียดของเสียงที่ดี มากพอจนเรารู้สึกถึงความแตกต่างที่เกิดจากชนิดของเครื่องเสียงและลักษณะการออกแบบของเครื่องเสียงนั้นๆ หากพบว่าหูฟังให้รายละเอียดตามนี้ได้ สามารถซื้อได้เลย 

credit : โยธิน ฤทิ์ธิพงศ์ชูสิทธ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น